My Photo

我的时候

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

ความสัมพันธ์ไทย-จีน




   

    บทความพิเศษ  สุรพงษ์ ชัยนาม  มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1299 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 ประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และทั้งสองประเทศ ก็ได้ร่วมกันจัดพิธีฉลองครบรอบ 30 ปีแห่งความสัมพันธ์ดังกล่าวเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2548 ที่ผ่านมา* เป็นเรื่องที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า 30 ปีแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน เป็นเวลา 30 ปีที่ได้มีผลทำให้ประเทศทั้งสองมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นเป็นลำดับ และได้นำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกันในทุกๆ ด้าน ตลอดจนช่วยคลี่คลายและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีระหว่างกันไปได้อย่างเป็นผลสำเร็จและโดยสันติวิธี รวมทั้งได้นำไปสู่การเพิ่มและขยายความร่วมมือในทุกๆ ด้านอย่างกว้างขวาง จึงถือได้ว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลและประชาชนของทั้งสองประเทศพึงมีความยินดีและภาคภูมิใจกับสภาพและสถานะแห่งความสัมพันธ์ไทย - จีน ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ที่ได้กล่าวมานี้คืออดีต ส่วนปัจจุบันจะมีอิทธิพลต่อแนวโน้มของความสัมพันธ์ไทย - จีนในอนาคตอย่างไรนั้น หาได้ขึ้นอยู่กับลักษณะความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทชิดเชื้อระหว่างกันที่มีมาในอดีต 30 ปีเท่านั้น แต่ย่อมต้องรวมถึงอิทธิพลของปัจจัยต่างๆ ภายในประเทศ (สภาพแวดล้อมภายใน) ทั้งของจีนและไทย และสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ (สภาพแวดล้อมภายนอกทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก) ที่ปรากฏในแต่ละห้วงเวลาทั้งในปัจจุบัน และต่อไปในอนาคตว่ามีอิทธิพล และผลกระทบต่อความสัมพันธ์ ระหว่างไทยกับจีนอย่างไร และมากน้อยเพียงใด ตลอดจนการตัดสินใจด้านนโยบาย และท่าทีของรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ที่จะมีต่อปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง ทั้งที่ปรากฏภายในประเทศ และที่ปรากฏในระดับระหว่างประเทศ (ภายนอกประเทศ) อีกทั้งรูปแบบและเนื้อหาของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลังยุคสงครามเย็นก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล อันมีผลทำให้นโยบายต่างประเทศของทั้งประเทศไทยและประเทศจีนที่มีต่อปัญหาในด้านต่างๆ ของโลก ได้รับทั้งการปรับและเปลี่ยนไปอย่างมาก มีทั้งที่สอดคล้องกันและที่ขัดแย้งกัน



ทั้งนี้ สืบเนื่องโดยตรงมาจากการที่ทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และมีความหลากหลาย ซับซ้อนกว่าผลประโยชน์ที่เคยมีเมื่อ 30 ปี ที่ผ่านมา นอกจากนั้น พัฒนาการในด้านต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นทั้งในไทยและจีนในรอบ 30 ปี ได้นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ แก่ทั้งสองประเทศ และเพิ่มศักยภาพความเข้มแข็งให้แก่ทั้งไทย และจีน จนสามารถพึ่งพาตนเองได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนอิทธิพลของโครงสร้างใหม่แห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลังยุคสงครามเย็น (ยุคโลกาภิวัตน์) ได้เปิดโอกาสให้ทั้งไทย และจีน ต่างมีทางเลือกมากขึ้นในการดำเนินนโยบายต่างประเทศทั้งที่มีต่อกัน และที่มีต่อประเทศอื่นๆ ของสังคมโลก ซึ่งโครงสร้างใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้มีผลทำให้ลักษณะของการพึ่งพาแบบแนบแน่น ที่ทั้งสองประเทศเคยมีต่อกันตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 ได้เจือจางลง  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากเดิมที่แบ่งชัดเจนออกเป็นสองขั้ว หรือสองค่าย (ยุคสงครามเย็น พ.ศ.2491 - 2532) มาเป็นแบบหลายขั้ว (พ.ศ.2533 - ปัจจุบัน) ได้มีอิทธิพลโดยตรง ต่อการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติและนโยบายต่างประเทศของทุกประเทศ มีผลทำให้ทั้งผลประโยชน์ และนโยบายต่างประเทศของทุกประเทศในโลกนี้มีความยืดหยุ่น และมีลักษณะเป็นอิสระ มากกว่าในสมัยยุคสงครามเย็น หรือสมัยที่การเมืองระหว่างประเทศแบ่งออกเป็นสองขั้วที่มีสหรัฐ และอดีตสหภาพโซเวียต ทำหน้าที่เป็นอภิมหาอำนาจผู้นำของแต่ละขั้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น