My Photo

我的时候

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

อิทธิพลของจีน

    เมื่อไม่นานมานี้ จีนได้ตัดสินใจที่จะสร้างท่าเรือแห่งที่สอง ที่กรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา โดยท่าเรือแห่งแรกนั้นอยู่ที่เขตฮัมบันโตตา นอกจากนี้จีนยังตกลงที่จะสร้างทางรถไฟและถนนเชื่อมระหว่างมณฑลยูนนาน และจิตตะกองซึ่งเป็นเมืองท่าของบังคลาเทศ การพัฒนาต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้จีนก้าวล้ำเข้าสู่ขอบเขตยุทธศาสตร์ของอินเดีย

คนงานศรีลังกาทำงานใต้แสงไฟสว่างจ้าที่ท่าเรือหลักในโคลอมโบเมื่อปี พ.ศ. 2552[เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส]

   จีนได้ขยายการลงทุนในสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ในเอเชียใต้อย่างเข้มข้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาในทศวรรษนี้ โดยเริ่มจากการสร้างทางหลวงคาราโครัม ที่ตัดข้ามเทือกเขาคาราโครัมผ่านช่องเขาคุนเจรับ ที่สูงกว่า 4,690 เมตร ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อประเทศจีนและปากีสถาน จนได้ชื่อว่าเป็นทางหลวงที่สูงที่สุดในโลก หลังจากนั้นจีนได้สร้างท่าเรือในศรีลังกา บังคลาเทศ ปากีสถานและพม่า แม้ว่าอินเดียจะมีสัมพันธภาพที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านยกเว้นปากีสถาน แต่ความสัมพันธ์ที่คืบหน้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านกับจีนทำให้ประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลทางการทูตเพิ่มขึ้นเหนืออินเดีย


   เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินเดียได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับศรีลังกา และข้อตกลงนี้ก็นำมาซึ่งผลสำเร็จและทำให้อินเดียเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของศรีลังกา แต่ในขณะนี้ผลประโยชน์ต่าง ๆ ของอินเดียแทบจะสูญหายไปเกือบหมด เมื่อจีนได้ครองตำแหน่งผู้บริจาคเงินรายใหญ่ที่สุดในประเทศแทนที่ประเทศญี่ปุ่น โดยปีที่แล้วจีนได้บริจาคเงินให้ ศรีลังกา 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เงินบริจาคจำนวนนี้มาถึงขณะที่ศรีลังกากำลังต่อสู่ห้ำหั่นกับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม หรือ แอลทีทีอี และหลังจากที่ประเทศตะวันตกอันได้แก่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนีได้ลดการช่วยเหลือลง
คนงานกำลังขนถ่ายสินค้าจากเรือลำแรกที่เข้าเทียบท่าฮัมบันโตตาที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นท่าเรือที่ได้รับเงินทุนจากจีน [เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส]

    นอกจากนี้ อินเดียยังให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลศรีลังกาด้านการทหารที่ไม่ก่อความรุนแรงถึงแก่ชีวิต เพื่อการต่อสู้กับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม แต่ก็เทียบไม่ได้กับความช่วยเหลือทางทหารที่มาจากจีน หรือหากจะระบุให้แคบลงกว่านั้นคือจากปากีสถาน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายโกทาบายา ราชาปักษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมศรีลังกาก็ได้เดินทางไปเยือนประเทศจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการทหารให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งจีนก็ตอบแทนโดยการตกลงใจที่จะสร้างท่าเรืออีกแห่งในโคลอมโบ


   ไม่มีบริษัทใดของอินเดียสนใจสร้างท่าเรือนี้มาก่อนด้วยเหตุผลที่ว่า บริษัทต่าง ๆ ของอินเดียส่วนใหญ่เป็นของเอกชน ในขณะที่บริษัทต่าง ๆ ของจีนเป็นของรัฐบาล ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองดูแลจากรัฐในยามประสบปัญหา รวมทั้งไม่มีข้อผูกมัดที่ต้องสร้างมูลค่าและกำไรสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น บริษัทเหล่านี้ยื่นประมูลและเข้าควบคุมโครงการต่าง ๆ และทำให้รัฐบาลจีนได้รับผลประโยชน์และข้อได้เปรียบทางกลยุทธ์ การสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ฮัมบันโตตา และล่าสุดที่โคลอมโบ ก็เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ข้อหลังนี้เอง การสร้างฐานที่มั่นของจีนในฮัมบันโตตา จะ ทำให้จีนควบคุมพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลในมหาสมุทรอินเดียต่อเนื่องไปจนถึงแอนตาร์กติกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น